ความสัมพันธ์ปรัชญากับวิทยาศาสตร์

  


ปรัชญากับวิทยาศาสตร์
Philosophy and Science
           
                 วิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญต่อความจริงที่นำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน เพื่อการควบคุมและทำนายผลที่จะเกิดขึ้น บนประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส ได้แก่ การกำหนดปัญหา การตั้งสมมติฐาน การรวบรวมข้อมูล การแยกประเภทและการวิเคราะห์ข้อมูล การประเมินผลและการนำไปใช้
                 ปรัชญา ให้ความสำคัญต่อการเข้าใจความจริง ด้วยการใช้เหตุผล โดยมีพื้นฐานว่ามนุษย์มีสติปัญญา ที่สามารถเข้าใจความจริง

ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์
                วิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างมีธรรมชาติของตน วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ปรัชญา เพราะว่ามันเจาะจงศึกษาความจริงเพื่อนำไปใช้สู่ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่คำถามที่เป็นปัญหาของปรัชญา (ความจริงคืออะไร? รู้ได้อย่างไร? ฯลฯ) โดยตรง วิทยาศาสตร์สนใจทำการศึกษาค้นคว้าทดลองตามหลักการของตน เพื่อตอบปัญหาในสิ่งที่วิทยาศาสตร์สนใจ 

ความหมายและคุณลักษณะของวิทยาศาสตร์
                วิทยาศาสตร์ถือกำเนิดจากความต้องการความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากความรู้เดิม โดยมีหลักการว่า สิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถรู้ เข้าใจและอธิบายได้ แต่เดิมวิทยาศาสตร์แฝงตัวอยู่ในปรัชญา และค่อยๆ แยกตัวออกมาโดยกำหนดบริบทของตนในการแสวงหาความรู้โดยใช้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความจริง ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาปรากฏการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบของการตั้งสมมติฐาน เพื่อทดสอบหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยมีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอคติหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน ในแง่นี้เราจึงบอกได้ว่าความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เป็นสากล


ความหมายของวิทยาศาสตร์
เราให้นิยามความหมายบางประการของวิทยาศาสตร์ได้ว่า
ก. หมายถึงกระบวนการคิดค้นความจริงอย่างเป็นระบบ
ข. หมายถึง องค์ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และความจริง อาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำมาประมวลความรู้เพื่อให้ชนรุ่นหลังศึกษาค้นคว้า (ต่อยอด) และการนำไปประยุกต์ใช้อำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ค. ฯลฯ
จากความหมายบางประการที่ยกมาข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์เป็น องค์ความรู้สากลที่เป็นระบบ เป็นสากลและสามารถพิสูจน์ผลได้แน่นอนตายตัว โดยไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม บุคคล เวลาและสถานที่

บทบาท (คุณค่า) ของวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นกระบวนการค้นคว้าหาความจริง มีบทบาทหน้าที่สำคัญสองประการ คือ
ก. การอธิบายปัญหาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ (สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร)
ข. การคาดการณ์สิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ามีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามีเหตุปัจจัยแบบนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างนั้น)

ลักษณะของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์
ก. มีความเป็นสากล (Universality) กล่าวคือ ได้รับการยอมรับทั่วไป เป็นความจริงที่ได้ไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม บุคคล เวลาหรือสถานที่
ข. มีความเป็นปรนัย (Objectivity ) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่เป็นหลักการโดยไม่ขึ้นกับอารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละคน
ค. มีความแน่นอน (Consistency) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่แน่นอน ตายตัว ผลการค้นคว้ามีลักษณะเป็นเอกภาพในทุกมุมโลก
ง. ความสมเหตุสมผล (Verificability) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่จะต้องมีผลลัพธ์ในทำนองเดียวกัน ถ้ามีเหตุปัจจัยทำนองเดียวกัน

กระบวนการความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ 
มีลำดับ 5 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
ก. การกำหนดปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากจะรู้เกี่ยวกับความจริง

ข. การตั้งสมมติฐาน หรือความเป็นไปได้ที่สิ่งนั้นจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ค. การรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
ง. การแยกประเภทและการวิเคราะห์ข้อมูล
จ. การประเมินผลและการนำไปใช้


ความเหมือนและความต่างของปรัชญากับวิทยาศาสตร์
ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ต่างมีพื้นฐานบนความจริงที่มนุษย์ตั้งคำถามและพยามศึกษาหาคำตอบในประเด็น/โจทย์ที่สอดคล้องกับบริบทตามธรรมชาติของตน โดยสรุปภาพรวมได้ดังนี้

                1. ในฐานะที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ ย่อมมีจุดหมาย คือ การแสวงหาความจริง อันเป็นคุณลักษณะโดยทั่วไปของทุกศาสตร์ แต่ความจริงที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์มุ่งตอบนี้มีรายละเอียดด้านคำถาม และวิธีการตอบที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
                ก. ในขณะที่ปรัชญาตั้งคำถามว่า ความจริงคืออะไร รู้ได้อย่างไรและเอาอะไรมาตัดสินความจริง?” (What/Why to be) อันเป็นคำถามที่พิจารณาถึงคุณค่าและความหมายของความจริง โดยยึดสิ่งนั้น (Object) เป็นศูนย์กลาง โดยไม่ใส่ใจว่าความจริงของสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตหรือไม่ ในขณะที่วิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่า ความจริงเป็นอย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร” (How to be) อันเป็นคำถามที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการตั้งและตอบคำถาม (Subject) วิทยาศาสตร์จึงสนใจคำตอบในรายละเอียดของสิ่งนั้น เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน/อนาคต (ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต)               
                ข. ปรัชญาจะเน้นการแสวงหาความจริงโดยอาศัยสติปัญญา ตามหลักเหตุ-ผล (ใช้ตรรกวิทยาเป็นเครื่องมือ มุ่งสู่มโนภาพ/สากลของสิ่งนั้น) ในขณะที่วิทยาศาสตร์เน้นประสบการณ์ที่สามารถพิสูจน์ได้ในระดับประสาทสัมผัส เพื่อค้นหากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพื่อควบคุมหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น             

                2. ความรู้ด้านปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ต่างสะท้อนถึงคุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ ในฐานะเป็นผู้มีสติปัญญา พยายามศึกษาค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับความจริง แต่สิ่งที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ใส่ใจมีรายละเอียดต่างกัน กล่าวคือ
                ก. ปรัชญาเน้นการตั้งคำถามและตอบตามเหตุ-ผล นำสู่หลักการและแนวทางการดำเนินชีวิต คำตอบจึงยังไม่ขีดเส้นตายสิ้นสุด แต่ยังมีคำตอบที่สามารถโต้แย้งได้ไม่สิ้นสุด ในขณะที่วิทยาศาสตร์จะพิจารณาคำถาม และตอบให้จบเป็นประเด็น ๆ ไป คำตอบที่ได้รับมีลักษณะเป็นสากล
                ข. ปรัชญาสะท้อนถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นอะไรมากกว่ากฎเกณฑ์หรือหลักการที่ตายตัว ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ทั้งหมด เพราะมนุษย์มีสติปัญญา มีความสำนึก มีเสรีภาพที่สามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตน ในขณะที่วิทยาศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของมนุษย์ที่ยังคงมีความต้องการในระดับประสาทสัมผัส ที่จำเป็นต้องได้รับการสนองความต้องการ



วิทยาศาสตร์
ปรัชญา
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดระบบแล้ว
ประสบการณ์สามัญที่จัดระบบแล้วและศึกษาส่วนย่อยเป็นส่วนๆ โดยเฉพาะ
รวบรวมข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ให้สัมพันธ์กับส่วนย่อย
รวบรวมข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ให้สัมพันธ์สอดคล้องกับส่วนรวม
วิทยาศาสตร์แต่ละสาขามีข้อสรุปจำกัดซึ่งอาจขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ
ประสานความขัดแย้งของวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆโดยประมวลเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นจริง (Reality)
พิจารณาข้อเท็จจริง
ประเมินค่าข้อเท็จจริง
ยึดความเป็นจริงของสสาร พลังงาน และอธิบายข้อเท็จจริงตามสมมติฐาน
สืบค้น ความสมเหตุสมผลของสมมติฐาน
วิธีการคือ สังเกต ทดลอง ตามสมมติฐานที่มีเหตุผล
วิธีการคือ หาเหตุผลจากข้อเท็จจริงในประสบการณ์ จากความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์


สรุป : ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์
                ในฐานะที่ปรัชญาเป็น ศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย” (ก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร) เราจึงพอจะมองเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ปรัชญาเป็นเหมือนกับ มารดาที่มีวิทยาศาสตร์เป็นดัง บุตรวิทยาศาสตร์เป็นการต่อยอดความรู้ความจริงของมนุษย์ เพื่อการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน


------------------------------------------

นายพัชรกุล นารีนุช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น